เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ นางมนัสณัญย์ โงชาฤทธิ์

ชื่อเรื่อง       การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความพึงพอใจ เรื่อง วัสดุและสารในชีวิตประจำวันของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้รูปแบบการสอนแบบวัฏจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น

ผู้วิจัย         นางมนัสณัญย์  โงชาฤทธิ์

โรงเรียน             เทศบาลสวนสนุก  สำนักการศึกษา  เทศบาลนครขอนแก่น

ปีการศึกษา        2561

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์(1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง วัสดุและสารในชีวิตประจำวันของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนและหลังการใช้รูปแบบการสอนแบบวัฏจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น(2) ศึกษาความพึงพอใจ ของนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอน เรื่อง วัสดุและสารในชีวิตประจำวัน โดยใช้รูปแบบการสอนแบบวัฏจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น รูปแบบวิจัยเป็นแบบยังไม่เข้าขั้นการทดลอง (Pre – Experimental Design)ใช้รูปแบบ One Group Pretest Posttest Design กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 38 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย (1) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง วัสดุและสารในชีวิตประจำวัน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ประถมศึกษาปีที่ 4โดยใช้รูปแบบการสอนแบบวัฏจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น จำนวน 12 แผน 20 ชั่วโมง (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เป็นแบบปรนัย เลือกตอบ ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ(3) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้เรื่องวัสดุและสารในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)จำนวน 32 ข้อสถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและ t-test  (t- pair)

ผลการวิจัยพบว่า

           1. นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนเรื่อง วัสดุและสารในชีวิตประจำวันโดยใช้รูปแบบการสอนแบบวัฏจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

           2. นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 4 มีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอน เรื่อง วัสดุและสารในชีวิตประจำวัน โดยใช้รูปแบบการสอนแบบวัฏจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.55 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.46


ชื่อผลงาน           การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาร่วมกับวัฎจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ระบบสุริยะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

ผู้รายงาน            มนัสณัญย์   โงชาฤทธิ์

โรงเรียน             เทศบาลสวนสนุก  สำนักการศึกษา  เทศบาลนครขอนแก่น

ปีการศึกษา        2562

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาร่วมกับวัฎจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ระบบสุริยะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (2) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาร่วมกับวัฎจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ระบบสุริยะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (3) เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาร่วมกับวัฎจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ระบบสุริยะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาร่วมกับวัฎจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ระบบสุริยะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มเป้าหมายได้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก สำนักการศึกษา เทศบาลนครขอนแก่น ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาร่วมกับวัฎจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ระบบสุริยะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และแบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า

1.จากการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สภาพที่คาดหวังและสภาพปัจจุบันครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ครูคาดหวังให้นักเรียนมีเหตุมีผลตามลำดับขั้นตอน สามารถรู้คิดและนำข้อมูลที่สำคัญเก็บไว้ในความจำระยะยาว แก้ปัญหาได้อย่างมีเหตุผล มีการแสวงหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายด้วยตนเอง แล้วประมูลความรู้เพื่อการเลือกทางเลือกในการแก้ปัญหา  ที่ถูกต้องมีเหตุผล แต่สภาพสภาพปัจจุบัน พบว่าผลการประเมินนักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านการประเมินการคิด การจัดการเรียนการสอนด้านการคิดและวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษายังไม่บรรลุเป้าหมายตามสภาพที่คาดหวัง การเรียนการสอนไม่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ไม่ฝึกการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา ทำให้นักเรียนเรียนวิทยาศาสตร์แบบท่องจำ ไม่มีเหตุผล ลืมง่าย ทำให้นักเรียนคิดไม่เป็น ทำไม่ได้ ไม่รักการอ่าน ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และครูมีความต้องการเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยครูจะต้องจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ด้วยการสอนคิดหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ การสอนคิดแก้ปัญหาที่ถูกต้อง พัฒนาความสามารถในการการคิดอย่างมีวิจารณญาณและคิดแก้ปัญหาไปพร้อมกับพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์โดยเน้นกระบวนการคิด การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝนด้วยตนเอง เพื่อให้นักเรียนได้สำรวจ ตั้งคำถาม อธิบายเหตุผล และพบคำตอบโดยการทำกิจกรรมทั้งกายภาพและทางสมองด้วยตนเอง

2.รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า“EIC4E Model” มีองค์ประกอบหลักคือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สาระความรู้และทักษะความสามารถ สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ หลักการตอบสนอง สิ่งสนับสนุน และรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นมีกระบวนการจัดการเรียนการสอน 7 ขั้นตอน คือ 1.ขั้นตรวจสอบความรู้เดิม(Elicitation Phase) 2.ขั้นสร้างแรงบันดาลใจ(Inspiration Phase) 3.ขั้นสร้างความรู้ (Constructivist Phase) 3.1 ขั้นทำความเข้าใจปัญหา (Understand the problems Phase) 3.2 ขั้นสืบค้นและวางแผนงาน (Searching and plan Phase) 3.3 ขั้นการดำเนินการ( Manage Phase) 4. ขั้นอธิบาย (Explanation Phase) 5.ขั้นขยายความรู้(Expansion Phase) 6.ขั้นประเมิน(Evaluation Phase) 7.ขั้นนำไปใช้(Extension Phase) ซึ่งรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นมีนำไปหาประสิทธิภาพประสิทธิภาพแบบเดี่ยว กลุ่มเล็กและภาคสนาม โดยมีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 83.66/81.11,87.80/86.67และ87.40/86.22 ตามลำดับเมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80/80 ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์

3.ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาร่วมกับวัฎจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ระบบสุริยะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า โดยภาพรวมคะแนนสูงกว่าร้อยละ 80 ซึ่งผลการประเมินระหว่างเรียนมีค่าเฉลี่ย 26.29 คิดเป็นร้อยละ 87.64 ผลการทดสอบหลังเรียน มีค่าเฉลี่ย 8.43 คิดเป็นร้อยละ 84.30 และผลการประเมินทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและคิดแก้ปัญหา มีค่าเฉลี่ย 15.47 คิดเป็นร้อยละ 85.94

4.ผลการประเมินการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาร่วมกับวัฎจักรการสืบเสาะหาความรู้ 7 ขั้น เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหา เรื่อง ระบบสุริยะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 พบว่า (1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน นักเรียน 40 คน มีนักเรียนที่ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของคะแนนเต็มจำนวน 38 คน คิดเป็นร้อยละ 95 ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (2) ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแก้ปัญหา นักเรียน 40 คน มีนักเรียนที่ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของคะแนนเต็มจำนวน  37 คน คิดเป็นร้อยละ 92.50 ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (3) ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ ภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด

Leave a Comment

Your email address will not be published.